ปั่นสู่กลางใจคน

สโลแกนในทริปที่เราพูดกันบ่อยครั้ง ย้ำเตือนนักปั่นสม่ำเสมอปั่นรวมใจไทย ปั่นสู่กลางใจคนว่าการปั่นครั้งนี้เรามีหน้าที่ประสานสัมพันธไมตรีจักรยานเป็นแค่เครื่องมือ ปั่นช้าๆ ทักทายคนในพื้นที่ สวัสดี ขอบคุณ โบกทักทาย แตะมือเด็กๆ จะจอดถ่ายรูป จอดคุยก็ได้ แต่ก็รักษาให้อยู่ในเวลาเพราะเราต้องแวะโรงเรียน เอาของไปแจก พูดคุย เล่นกับเด็กๆ บางวันยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 

บาเจาะ ตันหยงมัส บันนังสตา ตากใบ สุไหงโกลก ฯลฯ ถึงเราจะเป็นคนไม่ได้ตามข่าว แต่ชื่อพวกนี้ถูกข่าวลงซ้ำๆย้ำๆ จนคุ้นหู ทำลายความรู้สึก ความมั่นใจ สร้างม่านความกลัว ไม่อยากเข้าใกล้ แต่พวกเรานักปั่น 40 ชีวิต กลับไม่รู้สึกอย่างนั้น เราเองกลับรู้สึกว่าเพื่อนๆใน facebook ที่อยู่ตามสถานที่เหล่านี้ก็ใช้ชีวิต ปั่นจักรยานเช้าค่ำ ถ่ายรูปมุมสวย เล่าเรื่องความสนุก มีทริปชวนปั่น เป็นเรื่องปกติแบบที่เราทำที่กรุงเทพ มันต้องไปได้สิ เขาอยู่ได้เราก็ไปได้ หลายเหตุการณ์ที่เกิดใน กทม. ทำเอาเรารู้สึกความต่างไม่มี 

การตัดสินใจเดินทางมาร่วมปั่นครั้งนี้ชัดเจนตั้งแต่ยังไม่รู้แผนการเดินทาง เส้นทาง จำนวนวัน เงื่อนไข ข้อตกลง รู้แต่ไปแน่ จะเลื่อนกี่ครั้งก็ยืนยันว่าไป สิ่งได้สัมผัส ได้เห็น เกิดความคาดหมาย มีแต่ความน่ารัก มิตรภาพสุขล้น ธรรมชาติสมบูรณ์ มีความจริงใจ ไม่ต้องเพิ่มเติมแต่ง ขอแจกของฝากก็ไม่ต้องแบกมาเอาใจ เดินทางมาอย่างมั่นใจก็มากเพียงพอ แค่นี้ก็รู้สึกดีแบบประเมินค่าไม่ได้แล้ว 

เรื่องที่เรารู้สึกธรรมดาแบบเพื่อนมาหาที่บ้าน คงยากที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนในพื้นที่ถ้าเราไม่ได้ประสบแบบที่พวกเขาเจอตลอดสิบปีผ่านมา ถามที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่มีใครมาเที่ยวนานมากๆ แม้กระทั้งคนในเองที่มีลู่ทางย้ายออกไปก็ยังไม่กลับมา คนต่างพื้นที่ต่างจังหวัดไม่มีให้เห็น เมืองดูเงียบ แต่สะอาด ต้นไม้เขียวครึ้ม ขยะไม่มีสักชิ้น นี่น่าจะเป็นข้อดีของความดิบในพื้นที่ สำหรับคนรุ่นบุกเบิกได้มาสัมผัส 

ใครจะไปคิดว่าตลอดเส้นทางการปั่น 600++ กม. จะมีคนรออยู่ตลอดทางทุกๆ ร้อยเมตรก็ว่าได้ ส่วนใหญ่ 90% ที่เจอก็จะอยู่ในชุดที่มีผ้าคลุมผม พร้อมรอยยิ้มทันทีที่ทักทาย สวัสดีค่ะ ถ้าพูดว่าอัสลามูอาลัยกุมก็จะมีเสียงตอบรับ มูลัยกุมอัสลา ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เด็กๆจะน่ารักน่าเอ็นดูเป็นพิเศษ เพราะอยากขอแตะมือ บางคนก็ยื่นหลังมือ พี่ในกลุ่มที่เป็นคนพื้นที่บอกว่า เด็กๆที่ได้จับมือพวกเราแบบนี้เอาไปคุยได้อีกหลายวันเลยนะ ช่วงที่ทำเอาพวกเรานักปั่นเกินคาดคือช่วงรอยต่อนราธิวาสเข้ายะลา ทันที่ทีเข้าพื้นที่จังหวัดเราก็เห็นคนยืนมากมาย

ทีแรกคิดว่ารวมตัวมาต้อนรับแค่ตรงนี้ นั่นยังน้อยไปเพราะทุกบ้าน ทุกหลัง ที่ปั่นผ่าน ออกมายืนรอกันทั้งครอบครัว ส่งเสียงให้กำลังใจ สู้ๆนะ รอยยิ้ม โบกมือ มันตื้นตันใจนักปั่นทุกคนเหลือเกิน หลายโรงเรียนตลอดเส้นทาง คุณครูพาเด็กๆมายืนตั้งแถวรอ เพียงแค่แตะมือ ก็หัวเราะร่าเริงยิ้มแป้นโบกมือ บางโรงเรียนเตรียมน้ำ กล้วย ไว้รอรับเยอะมาก แต่พวกเราก็ไม่สามารถรับได้ ไม่มีกระเป๋าใส่กัน หลังเสื้อก็ไม่มีกระเป๋า พี่บางคนมีตระกร้าท้าย ถึงไม่รับ ก็มีกล้วยหลายใบ หยอดลงมาใส่ในตระกร้า บางบ้านก็ให้ขนม บางคนรู้ว่าเราจอดที่โรงเรียนนี้ก็เอาขนมที่ทำขายหรือซื้อมาให้ถึงที่ ไม่ใช่แค่ถุงเดียวแบ่งกัน แต่ขนมาเยอะมากๆ กินกันไม่หมดต้องพกไประหว่างทางด้วย

หลายโรงเรียนทำเอาพวกเรารู้สึกของที่เอามาฝากเด็กๆน้อยไปไหมแค่สมุด นมกล่อง ปากกา หมวกกระดาษ ลูกบอลสองลูก แค่นั้น เมื่อเทียบกับ อาหาร ขนม น้ำดื่ม ชา กาแฟ โอวันติน ผลไม้ ที่เตรียมไว้ให้นักปั่น แต่ด้วยความเพลีย เหนื่อย ร้อน ทางขึ้นเนินต้องพลังเยอะ กินชดเชยบ้างกินเผื่อเนินลูกข้างหน้าบ้าง ก็ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ได้รับการตอบรับดีทุกครั้งมีเท่าไรก็หมด ถึงไม่หมดก็จัดใส่ตระกร้าท้ายจักรยานไว้จอดกินระหว่างทาง

ระยะทางยังอีกยาวไกล จากกำหนดการเดิมในแต่ละวันก็ 60-80-100 กม. แต่ด้วยความสามารถของนักปั่น ทำเอาพี่ที่นำพาอ้อมไปทักทายหมู่บ้านอื่นๆ เพิ่มระยะเกือบร้อยโลตลอดหลายวันติด กลับถึงที่พักสลบ เช้าตื่นตีสี่ตีห้า กินข้าว ยืดเส้น แล้วออกปั่น 

ทางขึ้นเนินคดเคี้ยวเลี้ยวไปตามไหล่เขา บางช่วงขึ้นเนินชันยาวๆ บางช่วงก็ลงเขายาวๆ ถ้าได้ปล่อยไหล กดบันไดเพิ่มความเร็วไปอีกสนุกเพลิน ความเร็วทำให้เราพลาดทำหน้าที่ตัวแทนคนจากแต่ละภาคมาสานสัมพันธ์ พวกเรานักปั่นเลยยอมที่จะบีบเบรค ชะลอความเร็ว เพื่อให้ได้สัมผัสมือของเด็กๆที่มายืนรอ โบกมือทัก ส่งยิ้ม ประสบการณ์แบบนี้ปั่นมาเป็นสิบปีเพิ่งเคยเจอ ขอเก็บเกี่ยวช่วงเวลามีค่าทั้งเขาและเราเอาไว้ทุกกิโลเมตรที่ผ่านดีกว่า ยิ่งได้รู้ว่ายืนรอ 2-3 ชั่วโมงด้วยแล้ว น้ำตาแทบไหล พูดแทบไม่ออก ได้แต่บอกขอบคุณนะคะ 

เมื่อปั่นไปถึงจุดเชื่อมต่อแต่ละพื้นที่ นักปั่นเจ้าถิ่นแต่ละที่ก็จะมารับและส่งต่อ ได้เพื่อนใหม่ พูดคุยตลอดทาง ส่วนใหญ่จะปั่นเก่งมากเป็นพี่เลี้ยงดูแลเราอย่างดี มีบ้างที่ปั่นไม่เก่งเราก็ปั่นเป็นเพื่อน ดูแลเขากลับบ้าน ก่อนจากก็มีขอแอด line/facebook เอาไว้ ส่งรูป ติดตามข่าวคราว เผื่อครั้งหน้ากลับมาใหม่ก็มีเพื่อนพาเที่ยว

หลายพื้นที่เมืองใหญ่ต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ นี่ car free day หรืออย่างไรออกมากันหลายร้อยคัน ปิดเลนถนน มีรถนำ อย่างสุไหงโกลก ที่ยะลาก็มีวนในเทศบาล ปิดวงเวียนหอนาฬิกาจัดเสวนา เบตงก็เช่นกันวนแห่รอบเมือง ปิดถนนหน้าอุโมงค์จัดพิธีปิด แต่ละที่เตรียมของอร่อยของดีประจำท้องที่ไว้ให้นักปั่นได้กินจนพุงกาง 

แต่ถึงจะจัดเต็มให้มากแค่ไหนพวกเรานักปั่นก็ยังแบ่งพื้นที่ในกระเพาะออกไปตามเก็บของอร่อยในย่านนั้นเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะเบตงเรามีเวลาที่นั่นถึง 2 คืน กินกันกระจาย เข้าร้านนู้นเดินออกมาต่ออีกร้าน มื้อเย็นอย่างเดียวเปลี่ยนไป 7 ร้าน ที่นี่เหมือนเมืองท่องราตรี ยามค่ำคืนคึกคักกว่าตอนกลางวันหลายเท่าเลย

มีโอกาสมีเวลาชวนแวะมา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ทั้งสามที่คนพื้นที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า กลับมาอีกนะ พาเพื่อนๆมาเที่ยวที่นี่ด้วย เสียงยังดังชัด พาคิดว่าใครกันแต่ที่ตัดเขาและเราออกจากกัน ใช่ความกลัวในจิตนาการเราเองไหม เพราะความจริงนั้นน่ารักเกินบรรยาย รอยยิ้มในผ้าคลุมหน้า ทริปจบแล้วยังคิดถึง วางแผนว่าจะกลับมาอีกในฤดูผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ใครสนใจมาด้วยกันได้นะ